SCBX เมื่อ SCB ไม่เป็นแค่ธนาคาร! เปลี่ยนสู่ Tech Company หนี Disruption อีก 5 ปี มีมูลค่า 1 ล้านล้านบาท

SCBX Tech Company

ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ก่อตั้งขึ้นในปี 2449 เป็นธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งแรกอายุ 115 ปี จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2519 ได้ประกาศปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ จัดตั้งบริษัทแม่ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทน เพื่อทำธุรกิจเป็นบริษัทลงทุน (Holding Company) ปลดล็อกข้อจำกัดจากธุรกิจธนาคาร สู่ความเป็น Tech Company วางเป้าหมาย 5 ปี ขึ้นชั้นบริษัทระดับภูมิภาค มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) แตะ 1 ล้านล้านบาท

การปรับโครงสร้างธุรกิจ SCB สู่บริษัทโฮลดิ้ง SCBX ดังนี้

1.ประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจตั้งบริษัทโฮลดิ้ง SCBX

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 บอร์ด SCB ได้มีมติเห็นชอบให้จัดประชุมผู้ถือหุ้นวาระพิเศษในเดือนพฤศจิกายน 2564 เพื่อขอความเห็นชอบในประเด็นดังต่อไปนี้

  • จัดตั้งบริษัทใหม่เป็นบริษัทแม่ในชื่อ SCBX เป็นบริษัทที่ไม่ใช่ธนาคารเท่านั้น แต่เป็นบริษัทลงทุน (Holding Company) มีบทบาทเป็น Tech Company
  • ขอมติผู้ถือหุ้น SCB ในการแลกหุ้น (Share Swap) เพื่อให้ผู้ถือหุ้น SCB ไปเป็นผู้ถือหุ้น SCBX แทน โดยออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อแลกเปลี่ยนกับหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิของธนาคารในอัตรา 1 หุ้นสามัญ SCB ต่อ 1 หุ้นสามัญ SCBX และ 1 หุ้นบุริมสิทธิ SCB ต่อ 1 หุ้นสามัญ SCBX การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2565
  • จากนั้นจะนำ SCBX ไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเพิกถอนหุ้น SCB ออกจากตลาด
  • SCBX จะกลายเป็นผู้ถือหุ้น SCB แทน สัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์อยู่ที่ Share Swap
  • นอกจากนี้บอร์ดมีมติให้เสนอผู้ถือหุ้น SCB เพื่ออนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลเป็นกรณีพิเศษ จำนวน 70,000 ล้านบาท โดยสัดส่วน 70% จะใช้ในการทำเรื่องการโอนธุรกิจ จัดตั้งบริษัทใหม่ และการลงทุนใหม่ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจการและการเติบโตในอนาคต ส่วนอีก 30% ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและเก็บไว้จ่ายเงินปันผลในรอบปี 2565

2.เหตุผลปรับโครงสร้างจากธนาคารสู่ Tech Company หนี Disruption

  • ช่วง 5 ปีที่ผ่าน SCB ได้ทำโปรเจกต์ Transformation มาต่อเนื่อง เพื่อทำให้ SCB Group ยังเติบโตและแข่งขันได้ในระยะยาวอย่างยั่งยืน แต่พบว่าการทรานส์ฟอร์มหลายเรื่องโดยที่ทุกอย่างอยู่ภายใต้โครงสร้างธนาคาร SCB มีข้อจำกัด ทำให้ไม่สามารถทำธุรกิจได้เต็มที่ (เช่น การทำ Robinhood แพลตฟอร์ม Food Delivery เป็นการลงทุนของบริษัทลูกแทน)
  • รูปแบบธุรกรรมทางการเงินเปลี่ยนไปจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเข้าสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น ธุรกิจธนาคารพาณิชย์รูปแบบเดิม (Universal Banking) มีข้อจำกัดในการแข่งขันกับธุรกิจการเงินในโลกดิจิทัล
  • สามารถบริหารความเสี่ยง (Risk Management) และผลกระทบจากการลงทุนใหม่ให้อยู่กับ SCBX โดยไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจธนาคาร ที่อยู่ภายใต้การกำกับธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้ SCBX เน้นการเติบโตโดยแบบไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง ว่าสิ่งที่กำลังผลักดันการเติบโตจะไปกระทบต่อฐานทุนของธนาคาร
  • เพิ่มความคล่องตัวในการขยายธุรกิจการเงินอื่นๆ ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย
  • เห็นโอกาสและศักยภาพการเติบโตของธุรกิจหลายด้าน ทั้งภายในและภายนอกธนาคาร จึงจัดตั้ง SCBX เป็นบริษัทโฮลดิ้ง มีบทบาทกำหนดนโยบาย กำกับดูแล บริหารจัดการกลุ่มธุรกิจการเงิน และการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ
  • การปรับโครงสร้างเป็นบริษัทโฮลดิ้ง จะทำให้ธุรกิจธนาคารเดินไปได้ โดยทำให้แบงก์มีโครงสร้างกระบวนการทำงานกระชับ เน้นเรื่องประสิทธิภาพ ดูแลต้นทุนและสร้างผลกำไร การก้าวไปในทิศทางนี้จะทำให้ผลกระทบจาก Disruption ในธุรกิจแบงก์มีน้อยและอยู่รอดต่อไปได้
ธนาคารไทยพาณิชย์ SCB เปลี่ยนเป็น SCBX

3.จัดทัพ 2 กลุ่มธุรกิจ Cash Cow และ New Growth

ภายใต้โครงสร้างใหม่ SCBX แบ่งธุรกิจออกเป็น 2 กลุ่ม

3.1 Cash Cow

คือ ธุรกิจธนาคาร SCB ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของ SCBX เป็นกลุ่มสร้างผลกำไรที่ดีและสนับสนุนเงินทุนให้ SCBX ลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ต่อไป รวมทั้งธุรกิจการเงินอื่นๆ อย่าง ธนาคารในกัมพูชา, เมียนมา, บริษัทบริหารสินทรัพย์ รัชโยธิน, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBAM), SCB Protect , ไทยพาณิชย์ จูเลียส แบร์, ไทยพาณิชย์พลัส

3.2 New Growth

คือ กลุ่มธุรกิจแฟลกชิปผลักดันการเติบโต เพิ่มมูลค่าธุรกิจที่เข้าไปลงทุนด้าน Digital Asset และ Digital Platforms ดังต่อไปนี้

กลุ่ม Consumer Finance และ Digital Financial

  • บริษัทออโต้ เอกซ์ (Auto X)
  • บริษัทคาร์ด เอกซ์ (Card X)
  • บริษัทบริหารสินทรัพย์ คาร์ด เอกซ์ (Card X AMC)
  • บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ (SCB Securities)

กลุ่ม Digital Platforms และ Technology Services

  • บริษัทเพอร์เพิล เวนเจอร์ส (Purple Ventures)
  • บริษัท เอสซีบี เทคเอกซ์ (SCB Tech X)
  • บริษัทดิจิทัล เวนเจอร์ส (Digital Ventures)
  • บริษัทโทเคน เอกซ์ (Token X)
  • บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ (SCB 10X)
  • บริษัท เอสซีบี อบาคัส (SCB Abacus)
  • บริษัท มันนิกซ์ (Monix)
  • บริษัท เอไอเอสซีบี (AISCB) บริษัทร่วมทุน AIS
  • SCB-CP บริษัทร่วมทุนเครือซีพี
SCBX บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด มหาชน

4.โอนธุรกิจ SCB แตกบริษัทลูก จับมือพันธมิตรตั้งบริษัทใหม่

  • หากดูโครงสร้างธุรกิจในกลุ่ม New Growth ส่วนหนึ่งจะมาจากการโอนธุรกิจที่อยู่กับ SCB แตกเป็นบริษัทลูก เช่น Card X รับโอนธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล Auto X ธุรกิจสินเชื่อรถ ลิสซิ่ง
  • กลุ่มธุรกิจเดิมที่ SCB ถือหุ้นอยู่แล้วด้าน Digital Asset ผ่านบริษัท SCB 10X ธุรกิจแพลตฟอร์ม Food Delivery ผ่านบริษัท Purple Ventures ธุรกิจหลักทรัพย์ ดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลผ่าน SCB security ซึ่งเป็นเรือธงในกลุ่มธุรกิจสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
  • การลงทุนร่วมกับพาร์ทเนอร์ AIS จัดตั้ง AISCB เพื่อให้บริการด้านการเงินดิจิทัล เช่น บริการด้านสินเชื่อ (digital lending) และบริการทางการเงินอื่นๆ
  • ร่วมทุนกับ MGC Group ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกยานยนต์ จัดตั้ง Alpha X บริการธุรกิจให้เช่าซื้อ ลีสซิ่ง และให้สินเชื่อรีไฟแนนซ์รถยนต์ รถจักรยานยนต์ (Big Bike) เรือยอชต์ และ River Boat
  • ร่วมทุนเครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดตั้งกองทุน Venture Capital ขนาด 600-800 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงินในด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยีบล็อกเชน Decentralized Finance ตลอดจนเทคโนโลยีที่เกิดใหม่อื่นๆ
  • รูปแบบการลงทุนของ SCBX จะขยายเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (digital asset business) ในระดับโลกเพื่อเข้าสู่โลกการเงินแห่งอนาคตผ่าน SCB 10X และบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) โดยการร่วมลงทุนและเป็นพันธมิตรกองทุนระดับโลก และการพัฒนาธุรกิจ digital asset ด้านต่างๆ

5.วางเป้าหมายเข็น 15 บริษัทในเครือเข้าตลาดหลักทรัพย์ใน 3-5 ปี


การปรับโครงสร้างแตกธุรกิจเป็นบริษัทลูกโดยโอนธุรกิจมาจาก SCB รวมทั้งการร่วมทุน (JV) กับพาร์ทเนอร์ เริ่มต้นที่ 15 บริษัท (ในแผนธุรกิจจะมีการเปิดบริษัทเพิ่มขึ้นอีกหลายบริษัท) สำหรับบริษัทลูกในกลุ่มแรกนี้ ทุกบริษัทจะขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้แนวทางที่ SCBX วางโครงสร้างไว้ มี CEO บริหารทุกบริษัท ทุกคนทำหน้าที่เป็น “เถ้าแก่น้อย” ในการนำทุกบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป

“จุดหมาย (destination) ของทุกบริษัทลูก SCBX จะขยายกิจการและเดินทางไปสู่ทิศทางการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในช่วง 3-5 ปีจากนี้”

SCBX Fin Tech

6.SCBX กับเป้าหมาย Regional Player

  • ทิศทางของ SCBX ไม่ได้จำกัดตัวเองเป็นเพียงธนาคารแบบดั้งเดิมอีกต่อไป แต่ได้แปลงสภาพสู่ Tech Company ขยายเข้าสู่ธุรกิจการเงินประเภทอื่นที่ตลาดต้องการ สร้างขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี รวมถึงการบริหารจัดการแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยี (Technology Platform) ขนาดใหญ่ให้ทัดเทียมกับคู่แข่งระดับโลก
  • การขยายธุรกิจในกลุ่มการเงินและ New Growth จึงลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ มุ่งเติบโตในระดับภูมิภาค (Regional) โฟกัส 3 ตลาด คือ อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์
  • การลงทุนด้านแพลตฟอร์ม จะขยายธุรกิจสู่ระดับภูมิภาค (regional player) เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ จากประสบการณ์ลงทุนแพลตฟอร์ม Food Delivery Robinhood เห็นได้ชัดว่า Network Effect เป็นสิ่งที่สร้างพลังในธุรกิจนี้แบบ Winner take all ดังนั้นการเป็นเพียง Local Player จึงไม่สามารถแข่งขันได้ในระยะยาวได้อีกต่อไป

7.สร้างฐานลูกค้า 200 ล้านคน Market Cap แตะ 1 ล้านล้านบาท

บทสรุปของ คุณอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ย้ำว่าการปรับโครงสร้างครั้งนี้ มีเป้าหมายอีก 5 ปี ทุกธุรกิจของ SCBX จะเป็นบริษัทระดับภูมิภาค สร้างฐานลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศให้ได้ 200 ล้านคน จากปัจจุบันมีจำนวน 16 ล้านคน เพิ่มอัตราการทำกำไรอีก 1.5-2 เท่า และ Market Cap แตะ 1 ล้านล้านบาท (ปัจจุบันมูลค่าอยู่ที่ 371,821 ล้านบาท)

หลังจากนี้ SCB จะไม่เท่ากับธนาคารอีกต่อไป แต่ SCBX จะกลายเป็นกลุ่มบริษัทที่มีธุรกิจการเงินและแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีหลากหลาย เป็นบริษัทไทยที่ก้าวสู่ International Player แข่งขันกับคู่แข่งในระดับโลกได้

แชร์หน้านี้ : https://bit.ly/3EIMEkj